ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่เน้นย้ำการป้องกันการเก็บเกี่ยวและจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ อันนำมาซึ่งการทำลายเศรษฐกิจการซื้อจายทุเรียน สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและทำลายความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ดำเนินการสนองตามนโยบายโดยร่วมกับจังหวัดตราดจัดทำมาตรการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ท้องตลาดจังหวัดตราด ประจำปี พ.ศ. 2567
จากการดำเนินงานป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ท้องตลาดจังหวัดตราด ได้มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กระดุม พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี และพันธุ์หมอนทอง จากการตรวจสอบน้ำหนักแห้งด้วยเครื่องเตาอบไมโครเวฟ โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ของกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 3-2556 ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)
ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ต้องการจะเก็บเกี่ยวทุเรียนเพื่อจำหน่าย จึงมีความจำเป็นต้องนำตัวอย่างทุเรียนในรุ่นที่กำลังจะตัด มาตรวจก่อน โดยจังหวัดตราดให้บริการที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมาในวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น.
ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด นำโดย นายวินัย ขยันยิ่ง เกษตรจังหวัดตราด พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่มลงพื้นที่สำรวจการให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน พบว่าเกษตรกรชาวตราดให้ความสนใจนำตัวอย่างทุเรียนพันธุ์กระดุมที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวมาตรวจที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง และอำเภอแหลมงอบ โดยมีตัวอย่างทุเรียนตัวอย่างที่เกษตรกรนำมาส่งตรวจจำนวน 11 ตัวอย่าง พบว่ามีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนตามมาตรฐานจำนวน 7 ตัวอย่าง และต่ำกว่ามาตรฐานจำนวน 4 ตัวอย่าง สำหรับตัวอย่างทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต่ำกว่าเกณฑ์นั้น ทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้ดำเนินการให้คำแนะนำยืดอายุการเก็บเกี่ยวออกไป และก่อนเก็บเกี่ยวอีกครั้งให้นำตัวอย่างมาตรวจอีกรอบ