ประวัติอำเภอเกาะกูด

ประวัติความเป็นมา

เกาะกูดปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน นักวิชาการให้ความเห็นว่าเกาะกูดซึ่งอยู่ในจังหวัดตราด  ดินแดนทางภาคตะวันออกสุดเมื่อราว 65 ล้านปี ได้แยกตัวออกมาจากส่วนปลายทิวเขาบรรทัดที่เป็นหินทราย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกาะกูดปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1  ปีพุทธศักราช 2325  ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อองค์เชียงสือ  เจ้าเมืองญวณ  และครอบครัวได้หลบหนีกองทัพขององค์ไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินที่ยกมาตีเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปีจุลศักราช 11 (พ.ศ.๒๓๒๙) องค์เชียงสือคิดกอบกู้บ้านเมืองคืน ครั้นจะกราบทูลลาออกไปก็เกรงพระอาญา ด้วยการศึกพม่ายังรบพุ่งติดพันกันอยู่จึงเขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาแล้วหนีออกมาพร้อมด้วยองญวณอีกหลายคน หนีออกจากรุงเทพฯ มาลงเรือที่เกาะสีชัง แล่นเรือชักใบมา ๗ วัน จึงถึงเกาะกูดที่ไม่มีคนอยู่เลย ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ มีหมู่บ้านคลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด

เดิมเกาะกูดเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด  ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเกาะกูด  เมื่อปี  พ.ศ.๒๕๒๓  ตัวเกาะกูดมีระยะห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ  ๔๐  กิโลเมตร  ประชาชนชาวเกาะกูดมีความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ  ประกอบกับเกาะกูดอยู่ใกล้ดินแดนประเทศกัมพูชาด้านเกาะกงมากกว่าฝั่งไทย  ทางราชการจึงมีนโยบายเพื่อความมั่นคงและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  โดยได้ยกฐานะเกาะกูดและเกาะข้างเคียงขึ้นเป็น  กิ่งอำเภอเกาะกูด  ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่  ๑๙  มกราคม  ๒๕๓๓  โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่  ๑  เมษายน  ๒๕๓๓  ต่อมาได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเกาะกูดเป็น  อำเภอเกาะกูด  ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่  ๑๒๔  ตอนที่  ๔๖ก  ลงวันที่   ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๐  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  ๘  กันยายน  ๒๕๕๐

Scroll to Top